January 12, 2013

ทีระพาบในปีที่ผ่านมา

ผ่านไปอีกปีครับ เป็นปกติที่ผมจะมาบันทึกนุ่นนี่เกี่ยวกับปีที่ผ่านมาในเดือนแรกของปีใหม่ แต่เมื่อกี้พยายามจะย้อนกลับไปอ่านของปีก่อนๆ ปรากฏว่าปีที่แล้ว ลืมเขียน!!! ลืมได้ไงไม่รู้ครับ อาจจะเพราะช่วงปีใหม่ปีที่แล้ว ยุ่งๆ ง่วนอยู่กับการสมัครเรียนต่อ จนลืมล่ะมั้ง

ทีระพาบในปีที่ผ่านมา ผมลองนึกย้อนกลับไปดู ผมนึกอะไรที่สำคัญๆ ไม่ออกเลยนอกจาก เรื่องสมัครเรียนต่อตอนช่วงน้ำท่วมปีก่อนนู้นจนถึงปีใหม่ปีที่แล้วครับ

ผมสมัครเรียนต่อด้าน computer science ที่อเมริกาไป ผลที่ออกมาคือ ผมโดน rejected ทั้งหมด จากทั้ง 4 แห่งที่สมัครไป เศร้ามั้ยล่ะครับ ฮ่าฮ่า

แต่ตอนที่ผมทราบผลแต่ละแห่ง ผมไม่รู้สึกเศร้าหรือแปลกใจเท่าไหร่เลยครับ เพราะนอกจากคุณสมบัติที่ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรอยู่แล้ว ก่อนจะสมัคร และในขั้นตอนของการสมัคร ผมได้คิด ทบทวน ตกตะกอน อะไรอยู่มากทีเดียวเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง แล้วยิ่งผมเป็นคนคิดมากอยู่แล้วด้วย การตัดสินใจสำคัญแบบนี้ เล่นเอา นอนไม่หลับอยู่เป็นเดือนทีเดียว (อยากเลิกคิดมาก แล้วคิดอะไรง่ายๆ ตัดสินใจอะไรง่ายๆบ้างเหมือนกัน)

โดยเฉพาะในขั้นตอนการสมัคร ที่ผมต้องเขียน Statement of Purpose หรือ Future Plan  ผมเองก็ไม่อยากจะเขียนหลอกลวงตัวเอง แต่อยากจะเขียนสิ่งที่ตัวเองคิด และอยากทำจริงๆ ให้มันใกล้ความจริงที่สุด ยิ่งเขียนยิ่งอ่านเอง ยิ่งรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเองอาจจะไม่ได้อยากเรียนต่อก็ได้ หรือการเรียนด้านนี้ต่อ อาจจะไม่ได้จำเป็นก็ได้

ความคิดนี้ นำไปสู่อีกคำถามสำคัญที่วนอยู่ในหัวช่วงนั้นคือ "เราอยากเรียนต่อเพราะอะไร?" ด้านนึงก็คิดว่า เฮ้ย เราก็ชอบด้านนี้นะ เรียนต่อก็อาจจะเปิดโอกาสอะไรอีกมากมายให้ตัวเองในอนาคต อีกด้านนึงก็คิดว่า ชอบด้านนี้ก็จริง แต่เราแค่อยากเรียนต่อตามค่านิยมของสังคมรึเปล่า ใครๆก็บอกว่าไปเรียนต่อเมืองนอกดี ใครๆก็อยากไปเรียนต่อ เพื่อนๆพี่ๆหลายคนก็ไป เรากำลังจะเป็นนกที่แค่บินอพยพตามฝูงรึเปล่า แล้วมันจะดีจริงเหรอ?

เคยคุยกับเพื่อนหลายคน และรู้สึกคล้ายๆกันคือ สมัยเรียน เรารู้ว่าเรียนจบ ม.ต้น ก็จะขึ้น ม.ปลาย พอ ม.ปลายแล้วก็มหาลัย แต่พอเรียนจบแล้ว มันเหมือนไม่มีบันไดขั้นถัดไปแล้ว มันมีแต่พื้นที่โล่งๆข้างหน้า จากเดิมที่มันมีบันได้ถัดไปที่แน่นอน คราวนี้มันไม่มีแล้ว มันรู้สึกโหวงๆ การที่เราอยากเรียนต่อ เพราะอยากจะหาบันไดแบบนี้ไว้ไต่ เพื่อความสบายใจและกำจัดความรู้สึกนี้รึเปล่า

สุดท้ายผมก็ตกตะกอนระดับนึงว่า การเรียนต่อด้าน computer science อาจจะไม่ใช่ทางเลือกสำคัญที่ต้องเดินให้ได้สำหรับผมก็ได้ ยังมีทางเลือกที่เป็นไปได้ทางอื่นอีก คิดได้ในช่วงที่เตรียมทุกอย่างไปจะครบแล้ว ก็เลยคิดว่า ถ้าจะหยุดตอนนี้อาจจะ เสียดายทีหลังก็ได้ เลยเดินหน้าต่อจนจบ (การสมัครเรียนต่อมันดูดพลังอยู่เหมือนกันนะครับ)

ขอใช้ย่อหน้านี้ ขอบคุณอ.เกริก อ.มานพ และพี่ที่ทำงานที่สละเวลาเขียน Recommendation Letter ให้นะครับ ขอบคุณเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่ช่วยผมในการสมัครนะครับ ทั้งให้คำปรึกษา ช่วยตรวจภาษาและให้ความเห็นต่างๆที่มีประโยชน์มาก

หลังจากจบภารกิจสมัครเรียนต่อ ตลอดปีที่เหลือจากนั้น ผมแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยมาก ทำงาน หาอะไรอร่อยๆกิน ซื้อของเล่น ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำบ้าง จะเรียกว่าชิล ก็ไม่ผิดครับ

สำหรับทีระพาบในปีนี้ มีอยู่อย่างเดียวที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จให้ได้ คือ ออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรงครับ

ขอประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการออกกำลังกายและรักษาสุขภาพ ฮ่าฮ่า เพราะในปีที่ผ่านมา ผมอ่อนแอมากก เป็นหวัดบ่อยขึ้น มีปัญหาสุขภาพเยอะขึ้น เลยคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ไม่ดีแน่ อยากทำอะไร ก็ทำไม่ได้หรือไม่สะดวกแน่ๆ เพราะงั้นต้องทำตรงนี้ให้ดีขึ้นมาก่อนและทำให้เป็นนิสัยให้ได้สำหรับปีต่อๆไป

ว่าแล้วตอนนี้ก็ ตีสองครึ่งแล้ว นอนดึกอีกแล้ว = ="

สวัสดีปีใหม่ครับ

January 6, 2013

From Ubuntu to Arch Linux

เมื่อวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา ผมผลาญเวลาส่วนนึงไปกับการลง Arch Linux ให้ Thinkpad ที่บ้าน

จากที่ผมใช้ Ubuntu เป็น Desktop หลักที่บ้านมานานพอสมควร (เท่าที่จำได้คือเริ่มใช้จริงจังตอน 5.10) ถือเป็น Distro ตัวนึงที่ใช้แล้ว happy มาตลอด ไม่นับเรื่องจุกจิกๆที่มีเป็นธรรมดาของ Desktop Linux 

แต่ตั้งแต่ ผมอัพเกรด ไปใช้ Unity (จริงๆ อั้น ไม่อัพเกรดอยู่ 2-3 รุ่น รอจนคิดว่า Unity นิ่ง ค่อยอัพ) ก็พบว่าจากที่ใช้งานดีๆ ก็กลายเป็นเจอ UI หน่วงๆ ขึ้นมาซะงั้น โดยเฉพาะ Dash และการ search เพื่อจะเปิด app  มันหน่วงจนทนไม่ได้ พยายาม tuning นู่นนี่แล้วก็ไม่ดีขึ้น เลยคิดว่าเปลี่ยนดีกว่า แม้ผมชอบ concept ของ Unity หลายๆอย่างก็ตาม

สาเหตุอีกอย่างคือ ช่วง 4-5 รุ่นที่ผ่านมา เหมือน Ubuntu พยายามจะแต่งตัวอยู่ เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เยอะ ปรับไปปรับมา เหมือนหาตัวเองไม่เจอซักที แล้วอัพเกรด ก็มีอะไรจุกจิกๆ น่ารำคาญตลอด

เลยถือโอกาส ลองใช้ Distro อื่นมั่งดีกว่า ลอง Linux Mint แล้วก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่
ลอง search หา Distro ที่เค้าว่ากันว่า responsive ดู มีคนแนะนำอยู่สองตัวคือ Puppy Linux กับ Arch Linux 

ลอง Puppy Linux แล้วดูท่าไม่ไหว เลยมาลงเอย ที่ Arch Linux แล้วก็พบว่า ชอบ Arch Linux อยู่หลายอย่าง
  • The Arch Way
  • ที่ชอบที่สุดน่าจะเป็น เรื่องลง package เท่าที่จำเป็น คล้ายๆ Gentoo แต่ก็ไม่ได้ manual มากขนาดต้อง build จาก source เองหมด เริ่มจากลงแค่ base แล้วก็อยากใช้อะไรก็ลงเพิ่มเอาเอง (ตอนลงแค่ base นี่ boot เร็วได้ใจมาก) เหมือนได้ปรุงอาหารเอง แทนที่จะกินอย่างที่เค้าจัดมาให้
  • Structure หลายๆอย่าง คล้ายๆ FreeBSD ที่ผมคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว
  • Rolling release คือ มีอัพเดทเล็กๆเรื่อยๆ ไม่ได้รวมเป็นอัพเดทใหญ่ๆทีเดียวเป็นรอบแบบ Ubuntu
อีกเรื่องคือ Desktop Environment ที่สุดท้ายก็เลือก Gnome อยู่ดีแล้วก็ค้นพบว่า Gnome Shell คล้ายๆ Unity แต่ responsive กว่าพอสมควรเลย และตอนลงเสร็จก็เป็น Gnome แบบ minimum มาก ไม่มีโปรแกรมอะไรเลย แม้แต่ เครื่องคิดเลข

สิ่งที่ได้จากการลง Arch ครั้งนี้คือ 
  • ได้ลง Linux แบบ minimum แล้วนั่ง config นุ่นนี่ขึ้นมาเอง (ปกติลงแต่แบบ สำเร็จรูป) กินเวลาเยอะทีเดียว เยอะกว่าที่ตั้งใจไว้ แต่ก็เป็นการเรียนรู้ระบบไปในตัว
  • แยก /home ออกไปเป็น partition แยก แล้ว mount เอาแทน ควรจะทำมาตั้งนานแล้ว ต่อไป เปลี่ยน OS ก็ไม่ต้อง backup home กันอีกแล้ว
  • ได้ลองทำ dedicated GRUB2 boot partition  คือ สร้าง partition  เล็กๆ ที่มี grub อยู่เท่านั้น ทำให้ ไม่ต้องลง grub ใหม่ เวลาลง OS แถม ยัง config ให้ boot จาก iso แบบ ไม่ต้องพึ่ง external harddisk/usb ได้เลยด้วย พึ่งคิดได้
พอลงเสร็จปั๊ป 2-3 วันผ่านไป Ubuntu Phone ก็เปิดตัวทันที แหมะ พึ่งได้มีโอกาสนั่งอ่านนั่งดู
เอาละเอียดๆไปอ่าน blog ของพี่ +Sittiphol Phanvilai กับ blog ของคุณ +Isriya Paireepairit ดูครับ

แต่ความเห็นส่วนตัวคือ
  • ไม่รู้สึกใหม่เท่าไหร่กับไอเดีย One Device to Rule Them All เพราะรู้สึกไปแล้วตอนที่เปิดตัว Ubuntu for Android (ถ้าใครยังจำได้ :P ) และคิดว่าด้วยศักยภาพของ Canonical แล้วควรจะล้ำเข้ามาในโลก mobile แค่นั้นก่อนมากกว่า ทำให้มันดี แทนที่จะหันไปทำ Ubuntu Phone เองทั้งหมด เพราะแค่นั้นก็น่าสนใจมากพอแล้วครับ
  • เดาว่ามันจะออกมาหน่วงๆ เหมือน Unity แหงๆ
  • ผมเชียร์แนวทางที่พัฒนา app ด้วย HTML5 มากกว่า native นะ แล้วเขียนด้วย native เฉพาะส่วนที่จำเป็น เหมือนแนวทางที่ ChromeOS พยายามผลักอยู่ และคิดว่าในอนาคตมันควรจะไปทางนี้ด้วย
  • แนวคิด ระบบปฏิบัติการเดียวใช้ได้กับทุกอย่าง มองในมุมนึงมันก็เป็น Linux กันเกือบหมดนะครับ ฮ่าฮ่า แต่ถ้ามองในมุมที่คุณ Mark พยายามนำเสนอ ผมคิดว่าไม่ต้องตัวเดียวกันหมดก็ได้ แต่ขอให้ App สามารถเขียนทีเดียว รันได้หลาย platform เหมือน Web App และ integrate กันได้ดีๆ ผมว่าก็เพียงพอแล้วนะครับ

January 5, 2013

Property Rights

2-3 วันก่อน ผมพึ่งซื้อหนังสือ มนุษย์เศรษฐกิจ 3.0 ของคุณ นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ มาอ่าน ผมเป็นแฟนหนังสือของเค้าและตามอ่านมาหลายเล่มแล้ว รวมทั้ง blog เค้าด้วย

ยังอ่านไม่จบเล่ม แต่มีบทนึง ที่มีแนวคิดแปลกดี น่าสนใจ และผมไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย ชื่อตามหัวข้อครับ Property Rights

ขออนุญาตคัดมาบางย่อหน้าครับ

------------------------------

ถ้าถามคุณว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ ละอง ละมั่ง สมัน เนื้อทราย กูปรี สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ บางคนอาจตอบว่า เป็นเพราะกฏหมายคุ้มครองสัตว์ป่าไม่เข้มงวดพอ หรือบางคนอาจตอบว่า เป็นเพราะเราขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่ถ้าจะให้ตอบคำถามนี้แบบนักเศรษฐศาสตร์ สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้สูญพันธุ์เป็นเพราะ กฏหมายห้ามมิให้เอกชนครอบครองสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เมื่อเราห้ามมิให้เอกชนเป็นเจ้าของสัตว์ป่า พวกมันจึงเป็นสมบัติสาธารณะ ถ้าเราจะห้ามมิให้ใครฆ่ามันเพื่อเอาประโยชน์ เราจะต้องใช้กำลังพลจำนวนมหาศาลคอยอารักขาพวกมันตลอดเวลาซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเรายอมให้เอกชนเป็นเจ้าของพวกมันและหาประโยชน์จากพวกมันได้ จะมีบริษัทเอกชนจำนวนมากเปิดฟาร์มเพื่อหาวิธีขยายพันธุ์พวกมัน แล้วขายเนื้อของพวกมันเพื่อเอากำไร พวกมันจึงไม่สูญพันธุ์ แต่จะมีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดว่าสัตว์อย่าง เป็ด ไก่ หมู วัว เป็นสัตว์ที่ไม่มีวันสูญพันธุ์ได้ เพราะกฏหมายอนุญาตให้เอกชนเป็นเจ้าของพวกมันได้

------------------------------

แนวคิดนี้เป็นแนวคิดแบบทุนนิยม อิงอยู่บนฐานคิดที่ว่า คนเรามักจะหวงของๆเรา มากกว่าของๆคนอื่นหรือส่วนรวม ตัวอย่างง่ายๆจากในหนังสือคือ คุณมักจะประหยัดน้ำ ประหยัดไฟที่บ้าน มากกว่า น้ำไฟที่ทำงาน หรืออีกตัวอย่างคือการแก้ปัญหาช้างป่าลดลงในแอฟริกา

ผมลองคิดตามก็คิดว่า มันเป็นทางแก้ปัญหาที่น่าสนใจทีเดียว

วันก่อนช่วงหยุดปีใหม่ มีละครเฉลิมพระเกียรติเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า ในบทละครพยายามจะสอนว่า ทุกคนต้องหวงแหนป่าของชาตินะ และปกป้องไม่ให้ใครมาลุกล้ำป่า วิธีนี้ก็เป็นทางนึงในการปกป้องป่า และก็ใช้แนวคิดคล้ายๆกันที่จะสร้างความเป็นเจ้าของป่าให้กับทุกคน

แต่ถ้าสมมุติว่า เราไปใช้วิธีให้ปัจเจก/เอกชน เป็นเจ้าของป่า มาหาประโยชน์จากป่า  มันอาจจะกลายเป็นว่าเอกชน ก็ตัดต้นไม้ไปหาประโยชน์ก็จริง แต่เอกชนเองก็จะพยายามปลูกป่าทดแทนพร้อมๆกับหาทางปลูกให้มากกว่าเดิมด้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของตัวเองไปด้วย

แน่นอน ในกรณีป่า นี้มันยังมีเรื่องสัตว์ที่อาศัยอยุ่ มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่นอีก มันคงซับซ้อนกว่านี้มาก

ในท้ายๆบทนี้ ยังพูดถึงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ กับ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ไปหาหนังสือมาอ่านกันเองละกันนะครับ :)