January 5, 2013

Property Rights

2-3 วันก่อน ผมพึ่งซื้อหนังสือ มนุษย์เศรษฐกิจ 3.0 ของคุณ นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ มาอ่าน ผมเป็นแฟนหนังสือของเค้าและตามอ่านมาหลายเล่มแล้ว รวมทั้ง blog เค้าด้วย

ยังอ่านไม่จบเล่ม แต่มีบทนึง ที่มีแนวคิดแปลกดี น่าสนใจ และผมไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย ชื่อตามหัวข้อครับ Property Rights

ขออนุญาตคัดมาบางย่อหน้าครับ

------------------------------

ถ้าถามคุณว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ ละอง ละมั่ง สมัน เนื้อทราย กูปรี สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ บางคนอาจตอบว่า เป็นเพราะกฏหมายคุ้มครองสัตว์ป่าไม่เข้มงวดพอ หรือบางคนอาจตอบว่า เป็นเพราะเราขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่ถ้าจะให้ตอบคำถามนี้แบบนักเศรษฐศาสตร์ สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้สูญพันธุ์เป็นเพราะ กฏหมายห้ามมิให้เอกชนครอบครองสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เมื่อเราห้ามมิให้เอกชนเป็นเจ้าของสัตว์ป่า พวกมันจึงเป็นสมบัติสาธารณะ ถ้าเราจะห้ามมิให้ใครฆ่ามันเพื่อเอาประโยชน์ เราจะต้องใช้กำลังพลจำนวนมหาศาลคอยอารักขาพวกมันตลอดเวลาซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเรายอมให้เอกชนเป็นเจ้าของพวกมันและหาประโยชน์จากพวกมันได้ จะมีบริษัทเอกชนจำนวนมากเปิดฟาร์มเพื่อหาวิธีขยายพันธุ์พวกมัน แล้วขายเนื้อของพวกมันเพื่อเอากำไร พวกมันจึงไม่สูญพันธุ์ แต่จะมีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดว่าสัตว์อย่าง เป็ด ไก่ หมู วัว เป็นสัตว์ที่ไม่มีวันสูญพันธุ์ได้ เพราะกฏหมายอนุญาตให้เอกชนเป็นเจ้าของพวกมันได้

------------------------------

แนวคิดนี้เป็นแนวคิดแบบทุนนิยม อิงอยู่บนฐานคิดที่ว่า คนเรามักจะหวงของๆเรา มากกว่าของๆคนอื่นหรือส่วนรวม ตัวอย่างง่ายๆจากในหนังสือคือ คุณมักจะประหยัดน้ำ ประหยัดไฟที่บ้าน มากกว่า น้ำไฟที่ทำงาน หรืออีกตัวอย่างคือการแก้ปัญหาช้างป่าลดลงในแอฟริกา

ผมลองคิดตามก็คิดว่า มันเป็นทางแก้ปัญหาที่น่าสนใจทีเดียว

วันก่อนช่วงหยุดปีใหม่ มีละครเฉลิมพระเกียรติเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า ในบทละครพยายามจะสอนว่า ทุกคนต้องหวงแหนป่าของชาตินะ และปกป้องไม่ให้ใครมาลุกล้ำป่า วิธีนี้ก็เป็นทางนึงในการปกป้องป่า และก็ใช้แนวคิดคล้ายๆกันที่จะสร้างความเป็นเจ้าของป่าให้กับทุกคน

แต่ถ้าสมมุติว่า เราไปใช้วิธีให้ปัจเจก/เอกชน เป็นเจ้าของป่า มาหาประโยชน์จากป่า  มันอาจจะกลายเป็นว่าเอกชน ก็ตัดต้นไม้ไปหาประโยชน์ก็จริง แต่เอกชนเองก็จะพยายามปลูกป่าทดแทนพร้อมๆกับหาทางปลูกให้มากกว่าเดิมด้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของตัวเองไปด้วย

แน่นอน ในกรณีป่า นี้มันยังมีเรื่องสัตว์ที่อาศัยอยุ่ มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่นอีก มันคงซับซ้อนกว่านี้มาก

ในท้ายๆบทนี้ ยังพูดถึงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ กับ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ไปหาหนังสือมาอ่านกันเองละกันนะครับ :)

No comments:

Post a Comment